วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

อาการติดโทรทัศน์

 อาการติดโทรทัศน์

ความต้องการของมนุษย์นั้นมีหลายรูปแบบ บางครั้งเราต้องการวัตถุเช่น บ้านและอาหาร แต่ในบางโอกาสเราก็ต้องการความรู้สึกเช่น ความรักและความอาทร เป็นต้น แต่ถ้าความต้องการทางจิตใจนั้นมีมากถึงระดับขาดไม่ได้ นักจิตวิทยาเรียกอาการดังกล่าวว่า ติด เช่น ติดยา ติดพนันหรือติดเหล้า เป็นต้น โลกทุกวันนี้มีอาการติดอีกชนิดหนึ่งที่ผู้คนเป็นกันมากคือ ติดโทรทัศน์ จนพ่อแม่บางคนมีความรู้สึกว่า ลูกของตน (และบางครั้งก็ตนเอง) ติดทีวี ซึ่งหมายความว่า เขาใช้เวลาดูทีวีนานและมากกว่าที่จิตใจเขาต้องการ และถึงแม้เขาจะพยายามลดเวลาการจ้องจอทีวีสักเท่าใด เขาก็ทำไม่สำเร็จ ในกรณีการติดอย่างรุนแรง ชีวิตในครอบครัวและชีวิตในสังคมของคนติดทีวีจะบกพร่อง และในที่สุดคนคนนั้นก็จะหลบหนี ตัดขาดจากสังคมไปอย่างถาวร
นักจิตวิทยาได้รู้มานานพอสมควรแล้วว่า รายการทีวีที่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง สามารถเหนี่ยวนำให้คนที่มีความรู้สึกอ่อนไหว ลอกเลียนพฤติกรรมภัยได้ แต่นั่นก็มิได้หมายความว่า การดูทีวีเป็นเรื่องผิดจริยธรรม คุณธรรมและศีลธรรม เพราะรายการโทรทัศน์หลายรายการให้ความรู้เชิงความบันเทิงแก่คนดู นอกจากนี้การดูภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์ก็ยังเป็นทางออกเชิงอารมณ์ให้คนดู (บางคน) ได้หลบหนีจากชีวิตที่น่าเบื่อหน่าย และสุดเซ็งของตนในแต่ละวันได้ด้วย
แต่ปัญหาของการติดทีวีสามารถเกิดได้ เมื่อคนบางคนรู้อยู่แก่ใจว่า ตนไม่ควรใช้เวลาดูทีวีนาน แต่ก็อดเดินไปเปิดทีวีและนั่งดูหรือนอนดูนานเป็นชั่วโมงจนเสียงานเสียการที่ตนตั้งใจทำ ดังนั้น การศึกษาว่าเหตุใดคนจึงติดทีวีจะสามารถช่วยให้คนติดสื่อประเภทนี้สามารถควบคุมจิตใจ และชีวิตตนเองได้ดีขึ้น
ในวารสาร Scientific American ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 R. Kubey แห่งมหาวิทยาลัย Rutgers ในสหรัฐอเมริกาได้รายงานว่า คนอเมริกันดูโทรทัศน์โดยเฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมง ซึ่งคิดเป็น 50% ของเวลาว่างในแต่ละวันที่เขามี และถ้าเขาดูทีวีทุกวันเช่นนี้ หากเขามีอายุยืนถึง 75 ปี เขาก็จะใช้เวลาดูทีวีนานถึง 9 ปี และในการสำรวจโดย Gallup โพลก็ได้สถิติว่าในปี พ.ศ. 2543 ผู้ใหญ่ 40% และเด็ก 70% มีความรู้สึกว่าตนใช้เวลาดูทีวีมากเกินไปจนถึงระดับ "ติด" อย่างรุนแรง และคนติดทีวีเหล่านี้เวลาจะดูทีวีก็มักให้เหตุผลว่าการดูโทรทัศน์ จะทำให้ตนรู้สึกผ่อนคลายอารมณ์ แต่ทันทีที่ปิดทีวีความเครียดก็จะหวนกลับมาทันที ในการตรวจสอบการอ้างนี้ Kubey ได้ถ่ายภาพสมองและวัดชีพจรของคนเวลาดูทีวี
เขาได้พบว่า ขณะดูทีวีอารมณ์ของคนดูจะไม่เครียดและไม่กระตือรือร้นใดๆ และเมื่อถึงเวลาปิดทีวีความเครียดจะคลายลงไปมาก แต่ความไม่กระตือรือร้นก็ยังคงมีต่อไป ข้อมูลที่ได้นี้แสดงให้เห็นชัดว่า โทรทัศน์ได้ดึงดูดพลังชีวิตไปจากคนดู จนทำให้เขารู้สึกอ่อนเพลียไร้สมาธิ ซึ่งก็ตรงกับผลการสำรวจที่ได้ในเวลาต่อมาว่า สมาธิของคนหลังดูทีวีแย่กว่าก่อนดู แต่ถ้าเป็นการเล่นกีฬาออกกำลังกาย เรามักพบว่าสมาธิหลังเล่นดีกว่าก่อนเล่น
Kubey ได้พบอีกว่า เวลาจะเปิดทีวีคนทั่วไปมักรู้สบายๆ ไม่เครียดเสมือนจะบอกตนว่า เวลาต่อไปนี้คือเวลาพักผ่อนแล้ว แต่เมื่อดูไปๆ คนดูจะรู้สึกอ่อนล้า หรือเวลาไม่มีทีวีดูเขาก็จะรู้สึกเครียด เพราะคิดไปว่า การดูทีวีคือการคลายเครียด ความคิดเช่นนี้ทำให้เขาต้องเปิดทีวีดูทุกครั้งที่เครียด และการเปิดทีวีบ่อยๆ จะทำให้คนคนนั้นติดทีวีในที่สุด
เมื่อ 75 ปีก่อน Ivan Pavlov นักสรีรวิทยาชาวรัสเซีย ได้พบว่า สมองคนมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งกระตุ้นเร้าได้เช่น เวลาเราเห็นอะไรก็ตาม ม่านตาเราจะขยายตัวและเส้นเลือดที่นำเลือดไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อจะหดตัว เพราะสมองจะทำหน้าที่หาข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่ตาเห็น ในขณะที่อวัยวะอื่นๆ ของร่างกายจะอยู่ในภาวะสงบนิ่ง ด้วยเหตุนี้เมื่อใดก็ตามที่มีการเปิดทีวี คนทุกคนจะอดไม่ได้ที่จะเหลือบไปดูหรือจ้องดูไปเรื่อยๆ เหมือนตนถูกทีวีสะกดจิตยังไงยังงั้น การทดสอบยังแสดงให้เห็นอีกว่า ภายในเวลาเพียง 4-6 วินาที หลังจากเริ่มดูทีวีอัตราการเต้นของหัวใจคนดูจะลดลงทันที
การอดไม่ได้ที่จะดูเพราะสมองต้องการรู้ข้อมูลนี้ มีผลต่อเนื้อหาของการทำ music video และวิธีการโฆษณาสินค้าทางทีวี ซึ่งเราจะเห็นว่าในการผลิตสื่อประเภทนี้ ผู้ผลิตมักใช้วิธีตัดต่อและสอดแทรกภาพต่างๆ อย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่ภาพเหล่านั้นบางภาพไม่เกี่ยวข้องกันเลย ทั้งนี้เพราะผู้โฆษณาหรือผู้ขายต้องการให้คนดูจับตาและสนใจดูมากกว่าที่จะให้ข้อมูลแก่คนดู ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อโฆษณาหรือวิดีโอจบ คนดูจำรายละเอียดของการโฆษณาแทบไม่ได้เลย แต่อาจจำชื่อของสินค้านั้นได้เท่านั้น และมักรู้สึกเหนื่อยอ่อนเพราะสายตาต้องติดตามภาพที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ซึ่งก็ทำให้ผู้โฆษณาพอใจ เพราะเวลาคนดูไปซื้อสินค้าประเภทนั้น ถึงแม้เขาแทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับสินค้าเลย แต่เขาก็รู้สึก "คุ้นเคย" กับสินค้าเพราะจำชื่อสินค้านั้นได้
ในการทดสอบสภาพจิตใจของการดูทีวีว่า การดูทีวีมากมีอิทธิพลต่อคุณภาพการทำงาน การกิน การอ่านหนังสือ และการสนทนาอย่างไร นักจิตวิทยาได้พบว่า คนติดทีวีมักไม่ชอบการอยู่ร่วมกับคนอื่น และเวลาว่างคนติดทีวีจะรู้สึกกระวนกระวายมากกว่าคนไม่ติด หรือเวลาเข้าคิวใจคนติดทีวีจะสงบน้อยกว่า และรู้สึกเบื่อหน่ายง่าย รวมทั้งมีสมาธิสั้นด้วย และคนติดทีวีมักอ้างว่า การดูทีวีจะทำให้เขาลืมเรื่องร้าย และเรื่องทุกข์ร้อนต่างๆ ได้ นักจิตวิทยามีคำถามหนึ่งที่น่าสนใจคือ คนเราติดทีวีเพราะเหตุใด เพราะเขารู้สึกเบื่อหน่ายชีวิตหรือเพราะเหงา หรือการดูทีวีมากทำให้คนดูรู้สึกเบื่อและเหงากันแน่
L. Jerome แห่งมหาวิทยาลัย Yale ในสหรัฐอเมริกาได้เคยศึกษาเรื่องนี้ และได้ข้อสรุปว่า ถ้ายิ่งดูทีวีสมาธิจะยิ่งสั้น และคนที่ดูทีวีมากจะมีขีดความอดนทนและอดกลั้นต่อปัญหาชีวิตในระดับต่ำ และเมื่อประมาณ 25 ปีก่อนนี้ T.M. Mac.Beth Williams แห่งมหาวิทยาลัย British Columbia ในแคนาดา ก็ได้พบว่าจากการศึกษาวิถีชีวิตของชาวเขาในสมัยที่ยังไม่มีทีวี สมาชิกในครอบครัวสามารถแก้ปัญหาชีวิตได้อย่างสร้างสรรค์ แต่พอมีทีวีสมาชิกในยามว่างมีความรู้สึกอดทนและอดกลั้นน้อยลง หรือในยามทีวีเสีย บุคคลในครอบครัวจะกระสับกระส่ายและวิวาทกันบ่อย หลายคนในครอบครัวมีความรู้สึกว่า การขาดทีวีเกือบเหมือนการขาดอากาศหายใจ
สำหรับวิธีการที่ต่อต้านการติดทีวีนั้น นักจิตวิทยาแนะนำว่าคนติดต้องตระหนักให้ได้ก่อนว่า ตนกำลังมีปัญหาเรื่องนี้ เพราะตนใช้เวลามากเกินไป (กว่า 7 ชั่วโมง/วัน) อยู่หน้าจอทีวี และการดูรายการทั้งหลายนั้นไม่อำนวยประโยชน์อะไรมาก การจดบันทึกรายการที่ตนดูในแต่ละวัน จะช่วยให้ตนดูรู้ว่าสิ่งที่ตนดูนั้น มีคุณภาพเช่นไร จากนั้นวิธีแก้ไขขั้นต่อไปคือ เมื่อเสร็จจากการรับประทานอาหารเย็นก็ให้หากิจกรรมอื่นทำ การฝึกจิตใจให้เข้มแข็งก็เป็นเรื่องจำเป็น เพราะเราจำต้องตัดใจปิดทีวี หากภาพยนตร์ที่เราดูไม่ดี ซึ่งเราจะรู้ภายใน 5 นาที แทนที่จะทนดูไปอีกนาน 2 ชั่วโมง การตั้งนาฬิกาจับเวลาก็สามารถช่วยได้บ้าง เพราะเวลานาฬิกาปลุกดัง นั่นหมายความว่าเด็กหมดเวลาดูทีวีแล้ว และเด็กจะรู้สึกเหมือนกับได้ยินเสียงระฆังเตือนให้เข้าเรียน หรือเลิกเรียนในโรงเรียน ทีวีเมืองนอกทุกวันนี้มีไมโครชิฟสำหรับป้องกันมิให้คนดูดูรายการทีวีที่โหดร้ายทารุณได้ นี่เป็นวิธีควบคุมคุณภาพรายการดูวิธีหนึ่ง และครอบครัวหนึ่งๆ ก็ไม่ควรมีโทรทัศน์มากเท่าจำนวนสมาชิกในครอบครัว เพื่อให้สมาชิกได้ดูรายการร่วมกัน วิธีเหล่านี้อาจช่วยบังคับคนบางคนไม่ให้ติดทีวีได้ นอกจากนี้การศึกษาในโรงเรียนควรมีการสอนให้รู้จักคุณโทษของการใช้สื่อต่างๆ ในการเรียนรู้ด้วย เพื่อให้เด็กสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ข้อมูลข่าวสารที่เขาได้รับนั้น มีประโยชน์และโทษเพียงใด
การติดวิดีโอเกมและอินเทอร์เน็ตในเด็ก ก็เป็นอีกหนึ่งอาการที่ยังไม่มีการวิจัยมากในกรณีเด็กบางคนการเล่นเกมเป็นทางออกของจิตใจที่ต้องการหลบหนีจากชีวิตที่ยุ่งยากลำบาก ซึ่งการได้เล่นจะทำให้เด็กมีความรู้สึกดี แต่ถ้าทุกครั้งที่กังวลหรือ กลุ้มแล้วต้องหันเข้าหาเกม เราก็ถือเป็นอาการติดที่ต้องบำบัด นอกจากนี้ข้อเสียอีกประการหนึ่งของการเล่นเกมคือ ทำให้คนเล่นเหนื่อยและเวียนศีรษะหากเล่นนานด้วย ดังที่มีรายงานเมื่อ 5 ปีก่อนนี้ว่า หลังจากที่ได้เล่นเกม Pokemon เด็กญี่ปุ่น 700 คน ถูกหามส่งโรงพยาบาลเพราะเป็นโรคชักกระตุก อันเป็นผลจากการเล่นเกมนาน บริษัทผู้ผลิตเกมนี้จึงต้องออกคำเตือนให้ผู้เล่นระมัดระวัง เพราะการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วของภาพบนจอ มักทำให้สมองเด็กมึนหลังจากที่เล่นไปได้นานประมาณ 15 นาที
ในอนาคต จำนวนคนดูและติดทีวีจะมากขึ้นๆ เมื่อโทรทัศน์สามารถกำหนดพฤติกรรมของคนดูได้ เราจึงต้องระมัดระวังอำนาจหรืออิทธิพลจากสื่อประเภทนี้ไม่ให้กระทบกระเทือนต่อชีวิตเรานัก เพราะทีวีเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการบันเทิงและเป็นทางออกให้จิตใจที่วุ่นวายได้หลบหนีชั่วขณะหนึ่ง มันจึงเป็นประโยชน์ ถ้าเราดูรายการต่างๆ อย่างพอประมาณ แต่ถ้าเราดูมันมากไป มันจะชะลอการพัฒนาชีวิตของเรา และถ้าเราติดมันชีวิตด้านมนุษยสัมพันธ์ของเราจะถูกทำลายอย่างถาวรครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น