วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ภัยเทคโนโลยีต่อสุขภาพ ตอน ผลกระทบจากโทรทัศน์


ภัยเทคโนโลยีต่อสุขภาพ ตอน ผลกระทบจากโทรทัศน์




 
โทรทัศน์สามารถส่ง ผลกระทบต่อสุขภาพได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ผลกระทบในที่นี้ไม่ได้หมายถึงผลกระทบจากสื่อหรือเนื้อหาทางโทรทัศน์แต่เป็น ผลกระทบจากแสงหรือการมองทีวีนานๆ ซึ่งช่วงวัยที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ วัยเด็ก ยิ่งอายุน้อยก็ยิ่งมีความเสี่ยงมาก โดยเฉพาะในเรื่องของสายตาและระบบประสาท ศูนย์เฝ้าระวังภัยเทคโนโลยี(IT WATCH) มูลนิธิกระจกเงา ถือโอกาสช่วงปิดเทอมนี้นำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าจะเป็นผลจากการศึกษา วิเคราะห์ที่ผ่านมานานแล้ว แต่ก็ยังคงส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

โทรทัศน์กับพัฒนาการเด็ก

ช่วง 7 ปีแรกของเด็ก

เป็นช่วงที่ทักษะการใช้กล้ามเนื้อกำลังเจริญเติบโต การเล่นที่มีการเคลื่อนไหวจะกระตุ้นเด็กและปลุกให้ตื่นตัว เด็กวัยนี้เป็นวัยที่เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง

การที่เด็กนั่งดูโทรทัศน์นานๆ เด็กจะไม่เป็นไปตามวัยที่ควรจะเป็น ไม่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ซ้ำร้ายโทรทัศน์ยังทำลายศูนย์รวมความสนใจของเด็กอีกด้วย ขบวนการเรียนรู้ของเด็กเล็กๆ จะฝึกการเรียนรู้จากการลงมือกระทำ จากการเลียนแบบสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเขา เด็กที่ดูโทรทัศน์จะไม่ได้พัฒนาทักษะต่างๆ แต่อย่างใดเลยและยังทำให้ผู้ดูเฉื่อยชาลง ขาดแรงจูงใจและความมุ่งมั่นในการทำสิ่งต่างๆ

ช่วง 7 ปีต่อไป ( 8 - 14 ปี )

เป็นช่วงเวลาที่เด็กพัฒนาอารมณ์ ความรู้สึก จิตใจ และจังหวะการหายใจ

หากเด็กติดโทรทัศน์จะส่งผลกระทบต่อระบบการหายใจของเด็กเพราะความเร็วของภาพ มีความเร็วเกินไป เมื่อระบบการหายใจของเด็กติดขัดจะนำผลไปสู่อารมณ์ ความรู้สึกและจิตใจของเด็ก ทำให้เกิดความก้าวร้าว การเล่นที่รุนแรง แล้วยังกระทบต่อสุขภาพของเด็กด้วย

โทรทัศน์กับพัฒนาการทางสมอง

โทรทัศน์จะกระตุ้นสมองส่วนเล็กๆ ส่วนหน้า เป็นการรับรู้ข้อมูลโดยปราศจากการวิเคราะห์อย่างตระหนักรู้ ความเร็วของภาพที่เร็วเกินไปจะทำให้เซลล์สมองของเด็กรับภาพแล้วถูกตัดทิ้ง หากดูเกิน 20 นาที ประสาทหูตาจะล้า และต่อไปถ้ามีเรื่องน่าสนใจเข้ามาเด็กก็จะไม่รับ

การดูโทรทัศน์เป็นการใช้สมองซีกขวามากเกินไป ในสมองเด็กที่กำลังพัฒนาจะต้องมีการเปลี่ยนถ่ายจากซีกขวาที่ไม่มีคำพูดมี ภาวะฝันไปสู่ซีกซ้ายที่ใช้ตรรกะ คำพูด ทักษะต่างๆ ที่จำเป็นในการอ่านวิเคราะห์และการฟังแบบเชื่อมโยง

โทรทัศน์ไม่มีสิ่งกระตุ้นให้เด็กได้พูดโต้ตอบ มีเพียงภาพและเสียงที่ผ่านลำโพง ซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียว (One-way Communication) ทำให้เด็กไม่ได้พูดโต้ตอบด้วย เด็กที่ติดโทรทัศน์มากเกินไปอาจส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านภาษาช้าเนื่อง จากไม่ได้มีความจำเป็นที่จะโต้ตอบทางภาษา เด็กวัยนี้ยังต้องเรียนรู้ผ่านการสื่อสารสองทาง (Two-way Communication) เพื่อกระตุ้นพัฒนาการทางภาษา ขณะดูโทรทัศน์ผู้ปกครองจึงควรพยายามชี้ชวนพูดจาซักถามเด็กด้วย

ผลกระทบจากโทรทัศน์ต่อสุขภาพ

ระบบประสาท ปวดศีรษะ สายตา

สำหรับเด็กเล็กโทรทัศน์มีรังสีที่มีผลเสียต่อสายตา ในขณะที่จอรับภาพทางประสาทตาของเด็กเล็กยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้สายตาของเด็กก่อนขวบปีจะเห็นภาพและสีต่างๆ ได้อย่างลางเลือน และเหมือนคนสายตาสั้นคือ เด็กอายุเดือนแรกจะมองเห็นแต่สีขาวและดำในระยะ 12 - 15 นิ้ว นานไม่เกิน 5 วินาที เด็กอายุ 2 เดือน มองเห็นสิ่งของและสีแดง สีเขียว สีเหลือง ได้ชัดเจนในระยะไม่เกิน 20 นิ้ว และอายุ 3 เดือน มองเห็นชัดเจนในระยะ 1 ฟุต การให้เด็กเล็กดูโทรทัศน์ โดยเชื่อว่าเด็กจะรับรู้ภาพและภาษาได้อาจใช้ไม่ได้ผล อีกทั้งการได้รับแสงที่มากเกินไปจะส่งผลต่อสายตา เช่น ระบบประสาท การปรับแสงของเลนส์ตา กล้ามเนื้อตาเกร็ง สายตาสั้น เป็นต้น และอาจทำให้ดวงตาเกิดการเหนื่อยล้าและเสียเร็วขึ้นได้

การศึกษาวิจัยที่ประเทศอังกฤษได้ข้อสรุปว่า แสงที่กระพริบเร็วมีผลต่อระบบประสาทโดยอัตรากระพริบแสงต่ำสุดทำให้เกิดอาการ กับระบบประสาทคือประมาณ 18 ครั้งต่อวินาที จากนั้นทำให้การแพร่ภาพในประเทศอังกฤษถูกควบคุมให้กระพริบภาพได้ไม่เร็วกว่า 3 ครั้งต่อวินาที และมีข้อแนะนำว่า การดูทีวีอย่างมีความสุข คือไม่มีภาพกระพริบเร็วและจ้าเกินไปและควรอยู่ห่างจากจอ อย่างน้อย 6 ฟุต โดยเปิดดูในห้องที่เปิดไฟสว่าง จะช่วยลดผลจากการกระพริบของภาพและไม่เป็นอันตรายต่อสายตา

ปัจจัยกระตุ้นโรคลมชัก

อาการชักกับการไวต่อแสงหรือ photosensitivity ในผู้ป่วยโรคลมชักบางรายเมื่อได้เห็นแสงกระพริบหรือรูปภาพที่เป็น pattern ทำให้เกิดอาการชักขึ้นมา เรียกว่า “photosensitive epilepsy” สิ่งกระตุ้นที่เป็น photosensitive เช่น จอโทรทัศน์มีภาพหรือแสงที่กระพริบ ภาพเคลื่อนไหว จอคอมพิวเตอร์ เช่น วิดีโอเกมส์ หรือรายการทีวีที่มีสีหลายสีสลับกันไปมา แต่ไม่ใช่ว่าแสงต่างๆเหล่านี้จะทำให้ชักทุกครั้ง ยังต้องมีปัจจัยประกอบอื่นๆด้วย เช่น ความถี่ของไฟกระพริบซึ่งโดยทั่วไปความถี่ที่กระตุ้นอยู่ในช่วง 5-30 Hz ความสว่าง ความแตกต่างของแสงกับพื้นหลัง ระยะทางระหว่างผู้มองกับต้นกำเนิดแสง ความยาวของแสง

โอกาสที่ปัจจัยต่างๆเหล่านี้จะรวมกันทำให้กระตุ้นให้ชักมีน้อย แต่เพื่อความปลอดภัย ผู้ป่วยลมชักที่ไวต่อแสงควรที่จะดูโทรทัศน์ควรให้มีแสงสว่างพอเพียงเพื่อลด ความแตกต่างระหว่างหน้าจอกับความสว่างของห้อง ลดแสงสว่างหน้าจอ ดูโทรทัศน์ให้ห่างพอสมควร ใช้รีโมทในการเปลี่ยนช่องเพื่อจะได้ไม่เข้าใกล้โทรทัศน์ ไม่ดูโทรทัศน์นานเกินและอาจใส่แว่นตาตัดแสง ในการเล่นวิดีโอเกมส์ นั่งให้ห่างหน้าจอประมาณ 2 ฟุต ลดแสงหน้าจอ ถ้าเหนื่อยอย่าให้เด็กเล่นเกมส์ พักเป็นระยะและมองไปไกลๆ จากหน้าจอสักระยะและอาจปิดตาข้างหนึ่งสลับกันและถ้ารู้สึกเหนื่อยหรือผิด ปกติต้องหยุดเล่น ถ้าเล่นคอมพิวเตอร์ควรใช้จอแบนหรือจอ LCD ใช้แผ่นกรองแสง

สมาธิสั้น

เด็กในวัยแรกเกิด ถึง 6 ปี เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดสำหรับพัฒนาการของเด็ก ซึ่งการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือการกระตุ้นโดยพ่อแม่เป็นผู้สอน ดังนั้นการที่พ่อแม่ปล่อยให้ลูกดูโทรทัศน์หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์ นานๆ จะทำให้เด็กไม่มีพัฒนาการสมวัยและมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคสมาธิสั้น

โรคอ้วนและโคเลสเตอรอลในเลือดสูง

การดูทีวีมาก ๆ สัมพันธ์กับโรคอ้วนและโคเลสเตอรอลในเลือดสูง เนื่องจากการนั่งอยู่กับที่นาน ๆ การรับประทานของขบเคี้ยวระหว่างดูทีวี และโรคอ้วนในเด็กจะมีแนวโน้มทำให้เป็นผู้ใหญ่อ้วนหรือเกิดโรคหลายโรค เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ มะเร็งในลำไส้ มะเร็งเต้านม ปวดหลัง ตามมาอีก

ภาวะ “เคาช์โปเตโต้” (couch potato)

คือคนที่เอาแต่ นั่งๆ นอนๆ ดูทีวี วิดีโอ หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ไม่เคลื่อนไหวทำกิจกรรม ทำให้เป็นโรคอ้วน เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดจากภาวะเคาช์โปเตโต้ ควรมีการเคลื่อนไหวร่างกาย ทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น เด็กโตไม่ควรใช้เวลาเกิน 1 ชั่วโมง เล่นเกมหรือดูทีวี เด็กเล็กไม่เกิน 30 นาที

ล่าสุดทางบริษัท ซัมซุง ของประเทศเกาหลีใต้ได้ประกาศเตือนว่า การดูโทรทัศน์แบบ 3 มิติ อาจจะก่อให้เกิดอาการคลื่นเหียน วิงเวียนได้ โดยเฉพาะผู้หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุและเด็ก สาเหตุเป็นเพราะการชมโทรทัศน์ 3 มิติ จะทำให้ร่างกายมีความเครียดผิดปกติ ทั้งภาพที่มีสีฉูดฉาดก่อความระคายตา และกระทบกระเทือนต่อสมองอย่างรุนแรง ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเติบโตและก้าวไกลไปไวเพียงใด ก็อย่าลืมหันมาดูแลสุภาพตัวเองกันด้วย เพราะไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ก็สามารถส่งกระทบต่อสุขภาพร่างกายได้เช่นกัน คราวหน้าเราจะรวบรวมข้อมูลผลกระทบต่อสุขภาพจากการใช้งานคอมพิวเตอร์มาฝากกันค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น