วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เกร็ดความรู้ และ เคล็ดลับ


เกร็ดความรู้ และ เคล็ดลับ ประจำวัน 12/1/2013

ยางแตก - ยางรั่ว : ถ้ายางแตกเป็นแผลใหญ่ มียางในขนาดเดียวกันก็ใส่ยางในแทน (ต้องขนาดเดียวกันกับล้อเดิม ไม่เช่นนั้นยางจะขาดบริเวณจุ๊บเติมลมขณะวิ่ง) จากนั้นเติมลมให้เต็มก็วิ่งได้แล้ว ถ้ามียางอะไหล่ก็เปลี่ยนเลยจะดีกว่า หากมีชุดปะยางติดรถมาแผลยาวพอปะได้ก็ปะไม่ยุ่งยากอะไร ยางหลุดขอบก็ถอดออกมาล้างทำความสะอาดแล้วสูบลมเข้าไปใหม่ ควรมีปั๊มลมติดไปด้วยขณะเดินทาง
( คู่มือ ออฟโรด ประเทศไทย เล่ม 2 )





เรื่องของแอร์


1
โดยคุณ :เฒ่าคาริเบียน - - [ 18 เม.ย. 2546 , 20:50:24 น. ]

ความคิดเห็นที่ 1


2
โดยคุณ :เฒ่าคาริเบียน - - [ 18 เม.ย. 2546 , 20:52:19 น.]

ความคิดเห็นที่ 2
วงจรการทำความเย็นของแอร์รถยนต์
วงจรการทำความเย็นของแอร์รถยนต์นั้น แบ่งออกได้เป็นสองส่วน คือส่วนความดันสูงและส่วนความดันต่ำ
ส่วนความดันสูงนับตั้งแต่คอมเพรสเซอร์ซึ่งหมุนด้วยแรงเครืองยนต์
ดูดสารทำความเย็น(น้ำยา)ที่มีสภาพเป็นก๊าซ มาอัดให้ปริมาตรเล็กลง
แล้วส่งผ่านไปยังคอล์ยร้อน(คอนเดนเซอร์) เพื่อระบายความร้อนที่เกิดจากการอัดออกไป
อุณหภูมิสารทำความเย็นเมื่อถูกอัดนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 70 องศาเซลเซียส
เมื่อผ่านเข้าคอล์ยร้อน(คอนเดนเซอร์)แล้ว อุณหภูมิจะลดลงเหลือประมาณ 62 องศาเซลเซียส
ซึ่งสารทำความเย็น(น้ำยา)จะควบแน่นกลายเป็นของเหลวที่คอล์ยร้อน(คอนเดนเซอร์)นี้
สารทำความเย็นในสภาพของเหลวจะถูกส่งไปยังถังกรองและดูดความชื้น(ดรายเออร์รีซีฟเวอร์)
เพื่อกำจัดความชื้นและกรองสิ่งสกปรก หลังจากนั้นจะถูกส่งไปยังเอ็กซ์แพนชั่นวาว์ล
ซึ่งเป็นด่านสุดท้ายของส่วนความดันสูง ที่เอ็กซ์แพนชั่นวาวล์นี้สารทำความเย็นในสภาพของเหลว
จะถูกปล่อยผ่านรูเล็กๆ ให้พุ่งออกไปยังส่วนความดันต่ำของวงจรแอร์
สารทำความเย็นจะพุ่งเป็นฝอยเหมือนสเปร์ยถูกฉีดออกจากกระป๋องระเหยกลายเป็นไอ
ส่วนที่รับไอของสารทำความเย็นในส่วนความดันต่ำนั้นก้คือคอล์เย็น(อีวาพอเรเตอร์)
ซึ่งที่นั้นจะมีอุณหภูมิ 3 องศาเซลเซียส และสารทำความเย็นที่กลายเป็นไอนี้
จะถูกคอมเพรสเซอร์ดูดกลับมาอัดและกลับเข้าวงจรทำความเย็นต่อไป

จะเห็นได้ว่าวงจรการทำความเย็นนี้ง่ายมาก แต่มันมักจะเสียให้เรารำคาญใจและรำคาญกระเป๋าตังบ่อย
ผมจึงจะลองอธิบายจากประสพการณ์ที่ต้องไปจ่ายเงินให้ช่างแอร์มามากมาย จนจับเคล็ดได้
จากรูปภาพท่านจะเห็นว่ามีอุปกรณ์อยู่หลายชิ้น แต่ที่สำคัญต่อกระเป๋าตังเรามีสามตัวเท่านั้น
คือหนึ่งคอมเพรสเซอร์ซึ่งมีราคาแพงมาก และช่างมักจะบอกว่าเสียบ่อยๆทั้งๆที่มันทนทายาด
คอมเพรสเซอร์เสียนี่ถือเป็นเรื่องซวยเอามากๆ เท่าที่ผมเห็นมารถร้อยคันจะมีคอมเพรสเซอร์เสียจริงๆ
ไม่เกินห้าคัน (เป็นการทำสถิติแบบมั่วๆนะครับ) โดยมากมันไม่เสียแต่จะโดนช่างหลอกว่าเสีย
เพราะได้ตังมากเวลาเปลี่ยนมัน ตัวที่สองก็คือเอ็กซ์แพนชั่นวาว์ล หรือช่างเขาเรียกเฉยๆว่าวาว์ล
ไอ้เจ้านี่แหละตัวดี มันเสียได้บ่อยมากจริงๆ และเป็นสาเหตุใหญ่ของแอร์ไม่เย็นดังจะฝอยในช่วงต่อไป
ตัวที่สามคือรีซีฟเวอร์ดรายเออร์ ช่างจะเรียกดรายเออร์เฉยๆ ตัวนี้ไม่มีอะไรเสียกับชาวบ้านเขาหรอกครับ
มันเป็นใส้กรองและสารดูดความชื้นธรรมดา แต่เมื่อมีการถอดวงจรแอร์ออกมาไม่ว่าส่วนใด
ท่านก็ต้องเปลี่ยนมันด้วย เพราะมันจะหมดประสิทธิภาพการดูดความชื้นเมื่อเปิดออกสู่บรรยากาศปกติ
หากท่านไม่เปลี่ยนมันจะเป็นต้นเหตุทำให้เอ็กซ์แพนชั้นวาว์ลเสียได้

อาการสำคัญอันแรกของการเสียในระบบแอร์คือ มันไม่เย็น อาการไม่เย็นนี้จะแยกได้เป็นหลายลักษณะดังนี้
1.ไม่เย็นเลย 2. เย็นน้อย 3.เย็นแป๊บเดียวก็ร้อน
อาการที่หนึ่งนั้น สาเหตุใหญ่มาจากน้ำยาแอร์ไม่พอ ท่านจะสำรวจได้โดยมองที่กระจกช่องมองของดรายเออร์
ถ้าน้ำยาแอร์น้อยมันจะมีฟองจำนวนมากวิ่งผ่านกระจกให้เห็นชัดเจน กรณีที่มองแล้วไม่มีฟองสักเม็ดผ่าน
ทั้งที่ไม่ได้เติมน้ำยาแอร์มานานแล้ว พึงสันนิษฐานได้ว่าไม่มีน้ำยาในระบบ เนื่องจากรั่วไปหมดแล้ว
เพราะเนื่องจากถ้ามีน้ำยาอยู่มันก็ต้องมีฟองผ่านไปบ้างพอสมควร ช่างแอร์เขาจะไม่เติมน้ำยาแอร์จนเต็มถึงขนาด
ไม่มีฟองเหลือในระบบ และน้ำยาแอร์นี้จะรั่วออกไปได้เสมอๆ ดังนั้นมันต้องมีฟองอยู่บ้างเมื่อท่านมองครับ
ถ้าเห็นฟองมากมายก็ไปเติมน้ำยาแอร์ซะ แอร์มันจะเย็นขึ้นมาเอง แต่ถ้าเติมแล้วไม่กี่วันเป็นอีก นี่ก็ต้องมีอะไรรั่ว
แน่นอน ต้องให้ช่างแอร์เขาไล่หาที่รั่ว โดยมากการรั่วมักจะรั่วในด้านความดันสูง เพราะแรงดันน้ำยาแอร์ครับ
ดังนั้นจุดรั่วจะมีคราบน้ำมันคอมเพรสเซอร์ เป็นคราบเหมือนน้ำมันเครื่องเหนียวๆซึมออกมาประจานตามรอยต่อ
ที่รั่ว ต้องซ่อมที่จุดรั่วก่อนจึ่งจะแก้ไขส่วนอื่นต่อไป
สาเหตุที่สองนั้นคือคอล์ยเย็นตัน อันเนื่องมาจากมีความชื้นในระบบแอร์ อันนี้เกิดจากรีซีฟเวอร์ดรายเออร์ไม่สามารถ
ดูดความชื้นไว้ได้ ความชื้นในระบบแอร์จะมากลายเป็นน้ำแข็งในคอล์ยเย็น อุดตันไม่ให้น้ำยาไหลสะดวก อาการนี้
บางครั้งจะเห็นลมเย็นที่พุ่งออกมาจากช่องลมแอร์เป็นควันขาว อาการนี้ต้องเปลี่ยรีซีฟเวอร์ดรายเออร์ และแว็คคั่ม
หรือทำสูญญากาศในวงจรแอร์ก่อนเติมน้ำยาใหม่ครับ
อาการที่สองคือเย็นน้อย อาการนี้สาเหตุแรกมาจากน้ำยาไม่พอ ก็ต้องเติมครับ สาเหตุต่อไปก็คอล์เย็นตันสกปรก
อันนี้จะประกอบกับลมแอร์พัดเบาลง ทั้งที่มอร์เตอร์ก็หมุนดี อันนี้ต้องล้างตู้แอร์ ซึ่งปัจจุบัญสามารถล้างได้โดยไม่ต้องถอดตู้
แต่ถ้าถอดตู้ล้างจะสะอาดกว่าแต่ต้องเปลี่ยนรีซีฟเวอร์ดรายเออร์ใหม่ด้วยครับสาเหตุที่ต้องเปลี่ยนก็ว่ามาแล้ว
สาเหตุต่อไปก็คือระบายความร้อนไม่ดี อันนี้เกิดจากคอล์ยร้อนและพัดลมแอร์ สาเหตุนี้แมงหวี่เป็นกันได้มาก
คอล์ยร้อนอาจสกปรกมีฝุ่นผงเศษถุงพลาสติกใบไม้แมลงสารพัดไปจุกตามครีบระบายความร้อน ก็ทำความสะอาดซะ
ครีบเกบุบบู้บี้ เอาไม้เสียบลูกชิ้นค่อยๆบรรจงแซะจัดระเบียบสังคมมันใหม่ อย่าเอาไขควงเอาเหล็กไปทำนะครับ
หนักมือไปมันทะลุล่ะก็เรื่องใหญ่ ไม้เสียบลูกชิ้นนี้ดีที่สุด ถัดมาก็พัดลมแอร์ไม่หมุนหรือหมุนช้าลง อันนี้ต้องอาศัยฟังเสียง
ปกติมันเคยดังหึ่งๆ ต่อมาดังแหงวๆ ก็มีแปรงถ่านหมดมีอะไรเข้าไปขัด เศษผงในพัดลม ต้องถอดออกมาวิเคราะห์กัน
เรื่องพัดลมแอร์นี่มีเคล็ดอันหนึ่งต้องรีบเล่าไว้ก่อนที่จะลืม (คนแก่ขี้ลืม) ท่านเคยสังเกตุไหมว่าพัดลมแอร์นั้นมันจะหมุน
ตามคอมเพรสเซอร์ทำงาน ลองจอดรถติดเครื่องเปิดแอร์ดูนะครับ เวลาคอมเพรสเซอร์ทำงาน พัดลมมันก็จะหมุน
พอคอมเพรสเซอร์ตัด พัดลมก็หยุดหมุน วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้แมงหวี่ของท่านเย็นขึ้นก็คือ แก้ไขการหมุนของพัดลมแอร์ซะใหม่
โดยต่อสายของมันกับวงจรสวิทช์กุญแจ กล่าวคือเมื่อเครื่องยนต์ทำงานพัดลมแอร์จะต้องทำงานด้วย ไม่ว่าท่านจะปิดแอร์
หรือไม่ก็ตาม สาเหตุหรือครับ ก็เมื่อท่านไม่เปิดแอร์ ลมจากพัดลมนี้จะไปช่วยไล่ความร้อนออกจากหม้อน้ำ และถ้าท่านเปิดแอร์
เวลาคอมเพรสเซอร์มันตัดแล้ว ใช่ว่าคอล์ยร้อนมันจะเย็นลงเลยเมื่อไหร่ มันก็ยังคงร้อนค้างคาอยู่ ก็ให้พัดลมแอร์มันไล่ความร้อนไปเรื่อยๆ
ถ้าคอล์ยร้อนเย็นลงแล้วลมนั้นก็ยังไปช่วยหม้อน้ำต่ออีก อันนี้หน้าร้อนจะช่วยท่านได้มากครับ สาเหตุที่สามของการเย็นน้อย
คือเอ็กซ์แพนชั่นวาว์ลเสียซึ่งจะสัมพันธ์กับอาการที่สามต่อไปนี้
อาการที่สามคือเย็นแป๊บเดียวแล้วร้อน ต้องปิดแอร์สักพักเปิดใหม่เย็นแป๊บเดียวอีก อาการนี้เริ่มต้นของอาการเอ็กซ์แพนชั่นวาว์ลเสีย
ช่างเรียกวาว์ลแตก ถ้าทนทู่ซี้ใช้ต่อไป มันจะแตกบริสุทธิ์แล้วไม่เย็นเลยกลายเป็นอาการที่หนึ่ง สาเหตุที่วาว์ลมันแตกนี้โดยมากมาจากความชื้น
ไม่ว่าท่านจะแว็คคั่มไล่ความชื้นในระบบแอร์และมีดรายเออร์ดักไว้แล้ว แต่ระบบแอร์มันมากด้วยข้อต่อครับ โดยเฉพาะทางด้านความดันต่ำ
เวลาคอมเพรสเซอร์ดูดไอน้ำยามาอัด ถ้าข้อต่อในด้านความดันต่ำรั่ว มันจะดูดอากาศภายนอกให้ซึมเข้ามาในระบบ พอดรายเออร์ดูด
ความชื้นจนเสื่อมสภาพ ความชื้นก็จะเพ่นพ่านในระบบ และไปกลายเป็นน้ำแข็งอุดตันที่เอ็กซแพนชั่นวาว์ลหรือคอล์ยเย็น
เมื่อไปตันที่เอ็กซ์แพนชั่นวาว์ลมันจะขยายตัวตามประสาน้ำแข็ง ดันช่องเล็กๆของวาว์ลให้ขยายถ่างโตขึ้น ช่างเรียกว่าแตกครับ
ลองนึกถึงรูที่กระป๋องสีเสปร์ย เวลาท่านฉีดพ่นมัน ถ้าสีมาอุดตันก็จะทำให้พ่นไม่ออก ถ้าท่านไปทะลวงรูให้มันบานมันก็จะไม่พุ่ง
แต่จะทะลักหยดแหมะๆออกมา วาว์ลแอร์ก็เหมือนกัน เมื่อมันแตกแล้วก็เสียครับต้องเปลี่ยน และอาการนี้ช่างมักต้มท่านว่าคอมเพรสเซอร์พัง
ระวังให้ดีนะครับ เปลี่ยนวาว์ล+ดรายเออร์+แว็คคั่ม+เติมน้ำยา ไม่ควรจะเกินพันห้า เปลี่ยนคอมเพรสเซอร์ ห้าพันขึ้นนะครับ
ถ้าวาว์ลแตกก็เอาอันใหม่ใส่เข้าไป เปลี่ยนดรายเออร์ แว็คคั่มระบบ (ทำให้ในระบบแอร์เป็นสูญญากาศ) และเติมน้ำยาใหม่
แอร์ก็จะกลับเย็นขึ้นมาได้ครับ
อาการสัพเพเหระยังมีอีก เช่นคลัชแอร์เสีย มันไม่ตัดไม่ต่อคอมเพรสเซอร์ อันนี้สังเกตุง่าย เสียงป๊อกแป็กเวลาคอมมันตัดต่อจะหายไป
มองคอมเพรสเซอร์ก็รู้ เพราะถ้ามันหมุนด้านหน้าคลัชจะหมุน ถ้าคลัชไม่ต่อด้านหน้าจะหยุดนิ่งๆ เรื่องคลัชเสียนี้ก่อนอื่นดูรีเลย์คลัชก่อนครับ
บางทีคลัชดีรีเลย์เสียก็มี ไม่ต่อไฟไปให้ รีเลย์คลัชก็อยู่แถวๆตัวรีซีฟเวอร์ดรายเออร์ครับ ในฝากระโปรงโดยมากด้านคนนั่ง
อาการสายพานแอร์หย่อนลื่น อันนี้มีมากเหมือนกัน สายพานมันยืดหย่อนคอมเพรสเซอร์ก็หมุนไม่เต็มที่มีลื่นไถล มันหย่อนก็ทำให้มันตึงซะ
ถ้าร่องสายพานเปื้อนน้ำมันจาระบีก็ทำความสะอาดซะ สายพานเก่าแตกก็เปลี่ยนซะ
อาการลมไม่แรง อันนี้เป็นในรถที่คอล์ยเย็น ลมพัดออกมาไม่แรง อย่าพึ่งไปนึกว่ามันตันอย่างเดียว มีอาการตลกๆอีกอย่างหนึ่ง
คือน้ำท่วมในคอล์ยเย็น เนื่องมาจากท่อระบายน้ำตัน ปกติท่านจอดรถจะเห็นน้ำแอร์หยดออกมา นั่นมันมาจากคอล์เย็นครับ
มันควบแน่นน้ำในอากาศไว้ในตัว มีท่อระบายออกทิ้ง บางทีฝุ่นผงไปอุดตันท่อนี้ น้ำก็ไปท่วมอยู่ในคอล์ยเย็น ลมมันหมุนวน
ในคอล์ยเย็นไม่ได้ลมอั้น ผลคือลมไม่แรงทำให้นึกว่ามันตันซะแล้ว ดังนั้นหมั่นสังเกตุน้ำแอร์ที่หยดออกมาบ้าง ถ้าหายไปก็
ทะลวงท่อมันซะบ้างครับ
อาการเสียของแอร์ยังมีอีกนะครับ ตอนนี้นึกไม่ออก ท่านใดสงสัยก็ถามมา ถ้าผมรู้จะบอกให้ครับ ถ้าไม่รู้ก็จนใจ แหะๆๆๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น